Rama IX Art Museum Exhibition : Serenity in Lanna & Rajasthan by Surasit Saokong  
 
BIOGRAPHY l CONTENTS l WORKS l PUBLICATION l
 
TH l EN
พุทธศิลปถิ่นล้านนา แรงดลใจสู่ "ความสงบ"

ดินแดนล้านนา อุดมไปด้วย ขนบนิยมประเพณี โดยเฉพาะพุทธศาสนา เมือง-เชียงใหม่มีอายุเกิน 700 ปีแล้ว คงเป็นหลักฐานที่เพียงพอสำหรับคุณค่าในแง่ของประวัติศาสตร์ เขตกำแพงเมืองเก่าซึ่งเป็นสี่เหลี่ยมด้านเท่า แต่ละด้านความยาวร่วม 2 กิโลเมตร มีวัด ประมาณ 37 แห่ง ตามถนน และทางแยก จึงมองเห็นวัดหรือยอดเจดีย์ ที่มีอาณาบริเวณ เกือบจะติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่า วัดมีความสำคัญกับวิถีชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก ทุกวันพระ ขึ้น 8 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ ที่พระสงฆ์จะต้องขึ้นอุโบสถสวดพระปาฐิโมกข์ หลังจากเสร็จพิธี ทางสงฆ์จะมีบรรดาอุบาสก อุบาสิกา ผู้เฒ่าผู้แก่ มาเข้าวัด ฟังธรรม สวดมนตร์ นับเป็นสิ่งที่คนไทยอย่างเราๆ ควรจะสืบทอดมรดกดังกล่าวไว้ ผู้เขียน เป็น อาจารย์สอนศิลปะตั้งแต่ปี 2517 ได้มองเห็นความงามทางศิลปะที่โบราณาจารย์รังสรรค์ไว้ใน ศาสนสถาน ผลงานของช่างศิลปะที่ฝากฝีมือ ไว้ ภายในศาสนสถานเช่น อุโบสถ วิหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลวดลาย ปูนปั้น หรืองานจิตรกรรมฝาผนัง และการออกแบบหอระฆัง หอกลอง หรือ ศาลาการเปรียญ ฯลฯ ล้วนมีที่มาจาก ความคิด คติ ความเชื่อ ความศรัทธา ที่ลุ่มลึก ทางศาสนา

จากคุณค่าด้านความคิด อุดมคติ ที่ถ่ายทอดออกมาในรูปทรงต่างๆ เช่น รูปปั้นเทวดา, พระพุทธปฏิมา, พญาสิงห์, พญาหงส์, เหราพญานาค และ สัตว์หิมพานต์ต่างๆ ตลอดจน ลวดลายเถาวัลย์ พันธุ์ไม้เลื้อย ล้วนแต่ได้ถูกจัดสรร บรรจงสร้างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เช่นความ โดดเด่นของงานปูนปั้นที่เจดีย์วัดเจ็ดยอด หรือหอพระไตรปิฎก และภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในวิหารลายคำ ฝีมือช่างหลวงที่วัดพระสิงห์วรวิหาร รวมทั้งฝีมือช่างพื้นบ้านที่อุโบสถวัด บวกครกหลวง คุณค่าของศิลปกรรมดังกล่าวนี้ นับวันจะเสื่อมสลายไป จึงทำให้น่าเป็นห่วงกังวล ว่า มรดกอันล้ำเลิศทางพุทธศิลปดังกล่าว จะเสื่อมสภาพไปกับกาลเวลา

เป็นที่น่าชื่นชมยินดี ที่มหาจุฬาราชวิทยาลัย ได้เปิดการสอนหลักสูตรพุทธศิลปกรรม ขึ้น มีวิชาเอกสองวิชา คือ สาขาวิชาจิตรกรรมและประติมากรรม ระดับปริญญาตรี 4 ปี สำหรับให้พระภิกษุ, สามเณร และอุบาสก อุบาสิกา ได้เข้าศึกษา จากเนื้อหารายวิชาผู้ที่ เข้าศึกษาจะได้รับความรู้ ทางด้านทฤษฎีบาลีและศาสตร์ทางศิลปะบัณฑิตที่จบการศึกษาจะ สามารถ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และมองเห็นคุณค่าในมรดกทางวัฒนธรรม หรือฆราวาส สามารถดูแลรักษา รวมทั้งบูรณะอนุรักษ์ศาสนสถาน ที่พระภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาอยู่หรือไม่จำพรรษา ได้มีบทบาทในการตัดสินใจ และพิจารณาว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่ท่านเหล่านั้น ได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด จะสามารถปกปักรักษาให้มีความคงทนถาวรสืบไป

ผู้เขียนได้มีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตร และเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษา ดังกล่าวด้วย เพราะใช้วัตถุดิบจาก พุทธศิลปะในศาสนสถานแห่งแดนล้านนา มาเป็นแรงกระตุ้น ความคิดและจินตนาการ สรรค์สร้างผลงานจิตรกรรมมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2517 มีดินแดน ล้านนาเป็นที่พักอาศัย มองเห็นคุณค่าในมรดกอันล้ำค่าดังกล่าว จึงได้ตั้งจิตอธิฐานไว้ในใจว่า จะสร้างสรรค์ผลงานชุด ìความสงบî ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากบรรยากาศ ทั้งภายนอกภายใน ของศาสนสถาน เช่น อุโบสถ วิหาร หรือ กุฏิพระภิกษุสงฆ์ ก่อให้เกิดรูปทรง และบรรยากาศ ที่สงบเงียบ โดยอาศัยพระพุทธรูปศิลปะล้านนาและองค์ประกอบ เช่น เครื่องอัฏฐบริขาร ของพระสงฆ์ พระพุทธรูป ตลอดจนสถาปัตยกรรมทั้งภายในและภายนอก

และลวดลาย ปูนปั้นเทวดา พญาสัตว์ต่างๆที่โบราณาจารย์สร้างสรรค์ไว้ นำมาจัดวาง สร้างองค์ประกอบขึ้นใหม่ ในความรู้สึก แสดงออกทางรูปธรรมที่ สะอาด สว่าง สงบ โดยใช้แสงประทีป แสงเทียน และแสงจากโคมไฟ มาเป็นหัวใจของการรวบรวมสมาธิจิต เป็นหนึ่งเดียว ขับเน้นบรรยากาศที่มืดสลัว สงบสุข

เพื่อให้จิตและอารมณ์ เกิดความนิ่งสงบ สว่างด้วยปัญญาที่มองเห็นธรรม


จาก FATEHPUR ดินแดนมหาราชา จุดประกาย
สู่จิตรกรรม ìความสงบî


FATEHPUR เป็นเมืองเล็กๆที่ตั้งอยู่ในแคว้นมหาราชา ประเทศอินเดียตอนเหนือสภาพ บรรยากาศรอบๆ ตัวเมืองแห้งแล้ง ผืนดินส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ดังนั้นเมื่อมีลมพัดผ่าน ในอากาศ จะเต็มไปด้วยฝุ่นละอองจากเม็ดทรายละเอียด ทำให้เราต้องใส่ผ้าปิดจมูกและปาก สภาพบ้านเรือน ดั้งเดิมในหมู่บ้านแถวชนบท ที่ห่างจากตัวเมืองออกไปก่อด้วยอิฐและฉาบดินเหนียวผสมขี้วัว

ส่วนบ้านเรือนหรือคฤหาสน์ ที่มีระดับของคนร่ำรวย ก่อด้วยอิฐ ฉาบปูน มีตั้งแต่ชั้นเดียว ไปจนถึง หลาย ชั้น นิยมสร้างในรูปแบบพื้นแปลนสี่เหลี่ยม ปล่อยโถงโล่งกลางตัวอาคาร มองเห็นท้องฟ้า และอากาศถ่ายเทได้ดี จนแสงแดดสามารถสาดส่อง เข้าถึงใจกลางตัวอาคาร ได้ด้วย ช่วยให้โล่งสบาย ไม่มีฝุ่นละอองทรายมารบกวน ดินแดนแถบนี้แทบจะไม่มีฤดูฝนเลย มีฤดูหนาวกับฤดูร้อน ส่วนน้ำที่ใช้ ดำรงชีพมาจากใต้ดิน ด้วยการเจาะบาดาล สิ่งที่เป็นจุดเด่น ของ FATEHPUR คือ คฤหาสน์ของพวก มหาราชา หรือที่เรียกว่า พวกเศรษฐีมีสตางค์ พวกนี้จะร่ำรวยมาก ที่เราได้ยินมาว่ารวยที่สุดคือ คนเมืองแขกจนที่สุดคือคนเมืองแขก ดังนั้นคฤหาสน์แต่ละหลังจึงถูกสร้างอย่างใหญ่โตมโหฬาร ด้วย ฝีมือที่ประณีตบรรจงในการก่อฉาบโบกปูน ไม่ว่าตาม โค้งเว้า ซุ้มหน้าต่างและประตู ที่วิเศษสุด คือ ผลงาน จิตรกรรม ที่ประดับ บนฝาผนังทั้งภายใน ภายนอก ตามส่วนต่างๆของคฤหาสน์ ที่เหล่าช่างเขียนได้ ถ่ายทอดออกมาอย่าง วิจิตรพิสดาร ด้วยเทคนิคสีฝุ่น ผสมกาว จากยางไม้ ใช้สีคู่สดใส ตัดกันอย่าง รุนแรง เช่น สีแดงอมส้ม สีครามสด สีเหลือง น้ำตาล สีเขียว และดำ

ด้านหน้า เนื้อหา เรื่องราวของภาพจิตรกรรม เป็นเรื่องของผู้คนและสัตว์ แสดงให้เห็นถึง อำนาจราชศักดิ์ของมหาราชา ที่อุดมไปด้วยบริวารห้อมล้อม มีทั้งช้าง อูฐ ม้า ใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง ออกล่าสัตว์ เหล่าทหารคอยอารักขาปกป้องมหาราชา รายละเอียด ในผลงานจิตรกรรมบนฝาผนัง เป็นการแสดงเรื่องราวของมหาราชา และ มหารานี มีชีวิตการเป็นอยู่ อย่างสุขสบาย ข้าราชบริพารมากมาย คอยรับใช้มหาราชินี และนางสนมต่างคอยเอาอกเอาใจไม่ได้ห่าง รวมทั้งเครื่องดนตรีดีด สี ตี เป่า ต่างประโคม ภาพคน สัตว์ เช่น ช้าง อูฐ ม้า ที่ใช้เป็นพาหนะ ถูกประดับประดาอย่างสวยงาม ด้วย ลวดลายรอบตัวช้างหรืออูฐและม้า ความมั่งคั่ง อลังการดังกล่าว ช่างเขียน ได้แสดงออกซึ่งฝีมือ ทักษะ ความคิด ด้วยการจัดวางองค์ประกอบ และลวดลายที่ประดับประดาในตัว คน สัตว์ บนฝาผนังทั้งบนพื้นที่กว้าง และตามย่อมุม ใช้ลายเส้น แบ่งองค์ประกอบของภาพ สอดแทรกอย่าง สวยงาม ลงตัว เหมาะเจาะและน่าทึ่ง อย่างหาที่ติมิได้ โดยเฉพาะเถาวัลย์พันธุ์ไม้เลื้อย ความมีเสน่ห์ ในผลงานจิตรกรรม เปรียบเทียบได้กับ ตัวอาคารคือบุคคลที่มีบุคลิก สวยสง่าภูมิฐาน ส่วนงานจิตรกรรม คือ ลวดลายที่ประดับเสื้อผ้าอาภรณ์อันวิจิตรบรรจง ซึ่งถูกออกแบบไว้อย่างลงตัว ทั้งคน และ เสื้อผ้า ดังมหาราชา ที่เปล่งราศีให้เห็นบุญญาบารมี อำนาจราชศักดิ์สูงส่ง

สิ่งที่น่าทึ่งอีกประการหนึ่ง คือ คฤหาสน์มากกว่า 40 หลัง ทุกๆ อาคารล้วนมีผลงานจิตรกรรม บนฝาผนัง ทั้งภายในและภายนอก จนได้รับคำกล่าวขานว่า เป็นงานนิทรรศการจิตรกรรมกลางแจ้ง ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (OPEN AIR GALLERY) อายุของผลงานจิตรกรรมดังกล่าวนี้ มีอายุประมาณ 200 ปี ระหว่างศตวรรษที่ 17 - 18 สาเหตุที่น่าจะนำมาศึกษาคือ ทำไม คฤหาสน์ทุกๆหลังจึงมีการแข่งขันกัน สร้างผลงานจิตรกรรม ทั้งภายในและภายนอก คำตอบก็คือ ผลงานจิตรกรรมคือ ตัวแทนของรสนิยมและ ความร่ำรวย ของ เจ้าของบ้าน การแสดงถึง บารมีอำนาจราชศักดิ์ศิลปะจึงเปรียบดังเครื่องราชชั้นสูง ของมนุษย์ เห็นได้จากราชวังแวร์ซายของพระเจ้าหลุยส์ พระราชวังของพระเจ้าซาห์แห่งอิหร่าน และ อีกหลายแห่งที่ไม่อาจกล่าวได้หมดเป็นตัวอย่างของความมีพลังอำนาจบารมีของผู้เป็นเจ้าของ ดังนั้น ผลงาน จิตรกรรมจึงบ่งบอกถึง รสนิยมของเจ้าของบ้าน ในบ้านเรือนของชาวยุโรปและอเมริกา ฯลฯ ซึ่งนิยมประดับประดา ผลงานจิตรกรรมไว้ ภายในบ้าน เพื่อ ให้แขกผู้มาเยือน ได้เห็นประจักษ์ถึงความมีรสนิยมอันสูงส่งและยิ่งใหญ่

อีกประการหนึ่งที่น่าศึกษาคือ ทำไมผลงานจิตรกรรมโดยเฉพาะภายนอกอาคารจึงมีสภาพ ชำรุดน้อยทั้งๆที่มีอายุกว่า 200 ปี มาแล้ว คำตอบคือ ดินแดนในอินเดียเหนือมีอากาศแห้ง ไม่ชื้น เพราะฝนแทบไม่ตก ในแต่ละปี เป็นเขตทะเลทราย ทำให้ผลงานจิตรกรรมมีอายุยืนยาวได้ อาคารดังกล่าวมี กว่ากว่า 20 หลัง ที่บรรพบุรุษวงศ์ตระกูลได้ตายจากไป รุ่นต่อรุ่น ไม่มีลูกหลานสืบทอด จึงเป็น อาคารร้าง รัฐบาลอินเดียจึงได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่ง จ้างคนไปอาศัยอยู่จะได้ช่วยดูแลไปด้วย ในตัว แต่ถึงกระนั้น ก็เว้นที่จะเกิดความเสียหายไปไม่ได้ เหตุเพราะเขาต้องหุงต้มอาหารภายในอาคาร ส่วนใหญ่ใช้ขี้วัวเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดควันตลบทั่วอาคารอย่างเสม่ำเสมอ ผลร้ายคือ ฝาผนังบางส่วน มีสีของเขม่าควันปรากฏอยู่ เป็นที่น่าเสียดายอย่างมากแก่ผู้พบเห็น

จากการที่ได้ไปเที่ยวชมดินแดนดังกล่าว ทำให้ผุ้เขียนเกิดแรงบันดาลใจ สร้างผลงานชุด ìความสงบî ขึ้น โดยอาศัยรูปทรงสถาปัตยกรรมของอินเดีย และภาพจิตรกรรมฝาผนัง การจัด องค์ประกอบศิลป์ ตลอดจนการใช้สีสัน และลวดลายของเส้นที่โดดเด่น ด้วยการรักษารูปลักษณ์คงเดิม ของต้นแบบไว้ นำมาผสมผสานให้เข้ากับ ลักษณะเฉพาะตน สร้างบรรยากาศ กลางคืน ขึ้นในผลงาน จุดแสงประทีป ให้เกิดความสว่าง อบอุ่น และนิ่งสงบ FATEHPUR ดินแดนมหาราชา ในอินเดีย สมกับ เมืองพ่อแห่งจิตรกรรมของเอเชีย ที่ศิลปไทยเราได้รับอิทธิพลสืบเนื่องมา จึงควรศึกษาหาความรู้ให้เข้าถึง แก่นแท้แห่งผลงานจิตรกรรมอันล้ำเลิศที่ชาวโลกควรอนุรักษ์ไว้ ให้ชนรุ่นหลังได้ประจักษ์ถึงคุณค่าแห่ง มรดกโลกนี้ และช่วยกันรักษาให้ยืนยาวตลอดไป.

ผศ. สุรสิทธิ์ เสาว์คง


 

    2010 Exhibitions